ปัญหาที่นักธุรกิจเริ่มต้นมือใหม่ส่วนใหญ่ประสบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารเงิน ซึ่งเงินคือปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากในการทำธุรกิจ หากขาดทักษะหรือความสามารถในการบริหารเงินแล้ว ไม่ว่าเตรียมพร้อมทุกอย่างมากแค่ไหนก็มีสิทธิสามารถตกม้าตายได้ง่ายๆ ในเมื่อปัญหาเรื่องการเงินอาจต้องใช้ประสบการณ์เข้าช่วย แต่ด้วยทุนที่จำกัดทำให้คนเราก็ไม่ได้มีโอกาสที่ผิดพลาดเพื่อที่จะได้เรียนรู้บ่อยๆ 7 หัวข้อด้านล่างนี้คือเทคนิคในการบริหารเงินต่างๆ ที่สำคัญมากในการดำเนินธุรกิจที่เราไม่ต้องพลาดก่อนก็สามารถเรียนรู้ได้
1.เข้าใจเรื่องกระแสเงินสด
เรื่องกระแสเงินสดถือเป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในการทำธุรกิจ ไม่ใช่ตัวเลขกำไร-ขาดทุน
ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้เริ่มต้นธุรกิจมักล้มเหลวก็คือ การให้ความสำคัญกับตัวเลขกำไร-ขาดทุนมากกว่าความคล่องตัวของกระแสเงินสดที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ ทั้งที่ความจริงเรื่องกระแสเงินสดถือเป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในการทำธุรกิจเลยทีเดียว ซึ่งเราสามารถเริ่มได้จากเข้าใจสภาพของธุรกิจตัวเองก่อนว่า ในแต่ละเดือนหรือแต่ละปีมีเงินเข้ามาจากทางไหน และอยู่ในรูปแบบของเงินสด หรือเป็นแค่ยอดหนี้ค้างชำระเท่านั้น ในบางครั้งเรามีตัวเลขกำไรที่สูง แต่เราอาจลืมคิดไปว่ากำไรนั้นไม่ได้อยู่ในรูปแบบของเงินสด แต่เป็นรูปแบบของลูกหนี้ที่เราได้เพิ่มขึ้นมาแทน ทำให้เมื่อเรามีลูกค้าประเภทนี้มากๆ ก็จะทำให้ความคล่องของกระแสเงินสดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด ยังไม่นับรวมถึงกระบวนการที่เงินสดออกจากระบบของเราว่าถูกใช้ไปกับอะไรบ้างในรูปแบบใดเช่นกัน อย่าลืมนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลดูว่าเงินสดที่เรามีในระบบนั้นเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจหรือไม่ และมีสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉินมากน้อยเพียงใด
2.ตั้งความหวังได้ แต่ต้องเผื่อใจ ( และสำรองเงินฉุกเฉิน) ไว้บ้าง
การสำรองเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉินถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจ เพราะเราไม่มีทางคาดเดาได้ทุกอย่างว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตบ้าง
การเริ่มต้นธุรกิจเป็นของตัวเองนั้น ผู้ประกอบการต้องมีความพร้อม และเตรียมตัวเตรียมใจที่จะรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ก่อนที่จะเปิดธุรกิจได้เราแทบทุกคนมักมีความมั่นใจในระดับหนึ่งแล้ว การตั้งความหวังถือเป็นการให้กำลังใจตัวเองอย่างหนึ่งที่เราควรมีไว้บ้าง เมื่อคาดหวังถึงเป้าหมายแล้ว ก็ควรหาทางที่จะไปถึงจุดนั้นด้วย แต่ในทางกลับกัน การเผื่อใจเอาไว้ในกรณีล้มเหลวก็เป็นสิ่งที่ควรทำเช่นกัน การสำรองเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉินถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจ เพราะเราไม่มีทางคาดเดาได้ทุกอย่างว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตบ้าง เช่น ในบางครั้งลูกค้าอาจจะจ่ายชำระสินค้าเราช้า และเราอาจจำเป็นต้องชำระค่าใช้จ่ายรายเดือน ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบ ค่าแรง เงินเดือนพนักงาน จนอาจเกิดภาวะขาดเงินสดหมุนเวียนในระบบ ก็มีสิทธิทำให้ธุรกิจของเราล้มลงได้ง่ายๆ โดยที่เราไม่ทันตั้งตัวได้เช่นกัน