การสะสมประสบการณ์ให้ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจ

การสะสมประสบการณ์ให้ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจ

นับแต่อดีตเป็นต้นมาหลายครั้งที่ค่านิยมถูกนำไปผูกติดกับความเชื่อในแบบผิดๆ ซึ่งมักบังคับช่องทางการทำธุรกิจให้แคบลงอยู่เสมอ ความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเอาเสียเลยในปัจจุบัน เพราะดูเหมือนจะเป็นการไปจำกัดความก้าวหน้าอย่างสิ้นเชิงสำหรับนักธุรกิจสายเลือดใหม่ โดยหนึ่งในความเชื่อที่เป็นข้อผูกมัดให้ไม่อาจทำให้เริ่มธุรกิจใหม่ได้ก็คือความเชื่อเรื่องประสบการณ์ ซึ่งมักได้รับการบอกกล่าวจากรุ่นสู่รุ่นว่าธุรกิจเป็นเรื่องของประสบการณ์ ผู้ใดไม่มีประสบการณ์ก็อย่าริอ่านไปทำธุรกิจโดยเด็ดขาด Timothy Ericson ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท CityRyde ได้ให้แนวทางที่จะปฏิวัติความคิดเรื่องประสบการณ์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจอีกต่อไป ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดจุดด้อยในเรื่องการขาดประสบการณ์ได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะกับบริษัทหน้าใหม่ๆ คำถามที่มักพบเป็นประจำเมื่อเวลาไปขายงานต่อหน้าลูกค้าคือ หากไม่มีประสบการณ์อะไรเลยแล้วสิ่งไหนจะมาเป็นตัวช่วยบ่งชี้ว่าคุณจะทำงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่นำเสนอมาได้ ผู้ประกอบการหลายรายเมื่อได้ฟังคำถามนี้ก็แทบตกเก้าอี้เพราะไม่สามารถตอบคำถามที่ยิงมาจากปากลูกค้าได้ ทางออกของปัญหาดังกล่าวคือสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในกรอบการดำเนินงานของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนเงินทุนสำรอง ยอดหมุนเวียนในกระแสเงินสด และที่สำคัญคือประวัติการทำงานที่ผ่านมาของบริษัทต้องไม่มีข้อผิดพลาดจนถูกฟ้องร้องหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากการทำงานโดยเด็ดขาด เรียกได้ว่าทำประวัติการทำงานของบริษัทให้เนียนเข้าไว้จะช่วยทดแทนจุดด้อยในเรื่องของการขาดประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี

เครื่องมือที่สำคัญที่สุดของผู้ประกอบการในการลดปัญหาที่เกิดจากการขาดประสบการณ์ทางธุรกิจก็คือใช้จุดแข็งเข้าต่อสู้ ผู้ประกอบการจะต้องสำรวจตนเองก่อนว่ามีจุดแข็งในเรื่องอะไรที่จะสามารถไปต่อกรกับคู่แข่งบนท้องตลาดได้ อาจเป็นราคาที่ถูกกว่า คุณสมบัติที่ดีกว่า ฯลฯ แล้วพัฒนาเครื่องมือดังกล่าวนำมาใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้กับคู่แข่งที่มักอ้างเรื่องประสบการณ์เป็นจุดเด่น ซึ่งการใช้จุดแข็งของธุรกิจเข้ามาต่อสู้นี้ต้องใช้ทักษะส่วนตัวของผู้ประกอบการค่อนข้างมากในการบริหารจัดการให้ตรงกับยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ ประสบการณ์ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ประกอบการจะหาซื้อได้จากร้านสะดวกซื้อทั่วไปและส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ดังนั้นการค้นหาจุดแข็งในด้านอื่นๆ เพื่อนำมาทดแทนจุดด้อยดังกล่าวจึงเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึง “กึ๋น” ในการบริหารจัดการของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี