การที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและโดยเฉพาะภาคเอกชนที่ต้องมีการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ที่ชัดเจน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมภายในองค์กร ดังเช่นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของภาคเอกชนเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาคเอกชนในการสะท้อนปัญหา ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อภาครัฐ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการกระจายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้กับภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ในการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม
ไทยอยู่ในจุดที่เป็นจุดศูนย์กลางในการคมนาคม แต่ยังไม่มีมาตรการในการใช้ประโยชน์จากข้อดีนี้อย่างเต็มที่ ภาคเอกชนเห็นว่าต้องให้มีกฎหมายเฉพาะในสาขาธุรกิจโลจิสติกส์ และก่อตั้งสภาผู้ประกอบการโลจิสติกส์นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐมีนโยบายที่สอดคล้องและชัดเจนในเรื่องใบอนุญาตประเภทต่างๆ และให้รัฐมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม ขณะที่ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต้องยกระดับความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งปัจจุบันยังไม่ประสานงานกันดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ควรลดค่าเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างประเทศให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ และให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานความเร็วสูง รวมถึงเร่งรัดออกกฎห้ามครอบครองสิทธิ ข้ามสื่อ โดยกำหนดข้อห้ามการซื้อหรือควบรวมกิจการข้ามประเภท
เศรษฐกิจของประเทศไทยส่วนหนึ่งต้องพึ่งพิงกับอุตสาหกรรม เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมคือ แหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพ จึงทำให้เกิดแนวคิดการบูรณาการระหว่างแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่มุ่งแสวงหาผลกำไรกับแนวความคิดเชิงนิเวศ ที่มุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันของอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ภายใต้แนวทางการพัฒนาในด้านต่างๆ คือ กายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการโดยส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน อาทิ การจัดวางผังที่ตั้งของอุตสาหกรรมและการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นควบคู่ไปกับเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเน้นการลดและป้องกันมลพิษ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า