เริ่มต้นรู้เท่าทันเกมธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

ในปัจจุบันนักศึกษาที่จบใหม่ พนักงานที่ทำงานในบริษัทห้างร้านต่างๆ ทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ และข้าราชการหรือบุคลากรภาครัฐจำนวนมากที่สนใจจะมีธุรกิจของตนเอง แต่หลายๆ คนก็กล้าๆ กลัวๆ เกรงว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ และทุนรอนที่สะสมมาขณะทำงานจะหมดไป แล้วจะเดือดร้อนทั้งตนเองและครอบครัว
ในแต่ละปีจะมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกันก็มีธุรกิจจำนวนมากที่ต้องล้มเลิกกิจการไปด้วยเหตุผลต่างๆ ที่สำคัญคือขาดทุน แข่งขันกับคู่แข่งขันไม่ได้ หรือสู้คู่แข่งไม่ได้ ซึ่งยังไม่รวมสาเหตุอื่นๆ อีกนานัปการ เช่น การทุจริต การแตกคอกันของหุ้นส่วน เป็นต้น การต้องเลิกธุรกิจนอกจากทำให้ทุนที่สะสมมาหมดไป บางรายยังมีหนี้สินอีกจำนวนมาก ทั้งเงินกู้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้การค้า เงินกู้นอกระบบ เป็นต้น และตามมาด้วยคดีฟ้องร้อง ต้องเสียทรัพย์สินที่ไปจำนองกับธนาคาร หรือบางรายอาจถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย หมดทั้งทรัพย์สินและเชื่อเสียงเกียรติยศที่สั่งสมมานาน

ดังนั้นการจะเริ่มต้นทำธุรกิจจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่คิดจะทำเมื่อไหร่ก็ลงมือทำได้ทันที จำเป็นต้องศึกษาให้รอบครอบและเตรียมความพร้อมก่อนลงมือ อย่ารีบร้อนจนเกินไป ยอมเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาธุรกิจที่จะลงทุนก่อนจะดีกว่า ไม่ต้องเสียใจภายหลัง เพื่อไม่ให้ลงทุนแล้วต้องขาดทุน หมดเนื้อหมดตัวและขาดความมั่นใจในการทำธุรกิจไปตลอดชีวิต

นักลงทุนทุกคน เมื่อลงทุนแล้วก็ต้องการประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งสิ้น ขอแนะนำแนวทางสำหรับท่านที่จะเป็นนักลงทุนใหม่ในการลงทุนแล้วประสบความสำเร็จ ขอให้นักลงทุนทุกท่านตระหนักไว้เสมอว่าการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ แต่การศึกษาอย่างรอบคอบจะช่วยลดความเสี่ยง ลดความล้มเหลวในการลงทุน การประเมินความพร้อมของผู้สนใจลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการทำธุรกิจ เมื่อเดินหน้าลงทุนไปแล้ว จะถอยหลังก็ลำบาก บางครั้งเดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ เพราะลงทุนไปแล้ว ก็ยิ่งสร้างความลำบากใจ หลายคนชอบความสบาย ไม่ต้องการความรับผิดชอบ ไม่ชอบบริหารคน ชอบทำงานคนเดียว ไม่ชอบเอาใจใคร พอมาทำธุรกิจเข้า ก็เกิดความอึดอัด เพราะไม่ใช่ตัวตนของตน ทำไปก็ไม่มีความสุข เป็นผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต และยังบั่นทอนไม่ให้ธุรกิจเติบโต เพราะใจไม่ชอบ จึงไม่ทุ่มเท ดังนั้น การประเมินความพร้อมของผู้สนใจลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญประการแรกๆ ที่จะต้องทำ

การนำกลยุทธ์ SMEs มาปรับใช้ในเกมธุรกิจอาเซียนเพื่อให้ได้มีประสบการณ์ด้านธุรกิจ


กลยุทธ์ SMEs ไทยสู่อาเซียน ต้องได้รับข้อมูลแบบเจาะรายตลาดในอาเซียนที่ชัดเจน ทั้งความรู้ด้านการค้า การลงทุน ภาษีและกฎหมาย ตลอดจนการร่วมกลุ่มในห่วงโซ่อุปทาน หรือสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งจะเป็นกุญแจสำคัญในการเจาะตลาดเพื่อนบ้านอาเซียน เพื่อทำการค้าการลงทุนได้ต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านต้องศึกษากฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ และควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย เนื่องจากกฎระเบียบข้อบังคับของประเทศต่างๆ นั้นแตกต่างกัน และเป็นเรื่องต้องทำความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรอบรู้ด้านกฎหมาย และการมีเครือข่ายที่มีศักยภาพในตลาด ถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขยายตลาดสู่อาเซียนได้อย่างมั่นคง

เคล็ดลับการเข้าไปทำตลาดใน CLMV (กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม) นั้น ผู้ประกอบการควรสร้างความแตกต่างจากสินค้าที่มีอยู่ในตลาด และเน้นถึงกลยุทธ์สำคัญในการบุกตลาดอาเซียน ได้แก่ การเข้าใจตลาด มาตรฐานผลิตภัณฑ์ กฎหมายกฎระเบียบ ความรู้ในการทำธุรกรรมด้านการเงิน การเลือกช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสม และที่สำคัญคือ การพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด

สำหรับการทำธุรกิจในกัมพูชา ผู้ประกอบการควรศึกษาวัฒนธรรม ประเพณี และนิสัยใจคอของคู่ค้า คู่แข่งสำคัญของสินค้าไทย คือ ไต้หวัน เกาหลี จีน และเวียดนามกัมพูชาให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีกำไร ภาษีนำเข้าเครื่องมือการผลิต อุปกรณ์การก่อสร้าง เป็นต้น โดยชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ 100 % ในธุรกิจแทบทุกสาขา

การทำธุรกิจในเมียนมาร์ ปัจจุบันเมียนมาร์ยุคใหม่ภายหลังการเปิดประเทศ มีการปรับกฎระเบียบในด้านต่างๆ ให้เอื้อต่อการเข้าไปลงทุนเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจที่น่าสนใจในประเทศเมียนมาร์ ได้แก่
– เกษตรกรรม เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการทำการเกษตรเป็นหลักและมีแหล่งทรัพยากรที่ดินมากมาย
– สัตว์น้ำและประมง เนื่องจากเป็นประเทศที่ติดทะเล 2,832 กิโลเมตร
– รวมทั้งเหมืองแร่และพลังงานซึ่งเมียนมาร์มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

รูปแบบการทำธุรกิจในเมียนมาร์มี 3 รูปแบบ
1) การทำธุรกิจกับเมียนมาร์โดยตรง คือ ให้คนเมียนมาร์ขายสินค้าหรือทำร่วมกัน
2) การส่งสินค้าผ่านผู้ค้าชายแดนเพื่อเป็นตัวแทนการกระจายสินค้าให้
3) การตั้งเอเย่นต์ที่ชายแดน ข้อควรระวัง คือ การถูกปลอมแปลงสินค้าจากประเทศจีนซึ่งสินค้าไทยโดนปลอมแปลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชาวเมียนมาร์นิยมสินค้าไทยมากกว่าสินค้าจากจีนเพราะมีคุณภาพที่ดีกว่า

การทำธุรกิจในเวียดนาม ควรเริ่มทำที่ภาคใดภาคหนึ่งก่อนแล้วค่อยขยายไปทีละภาคโดยต้องมองเวียดนามออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนเหนือและส่วนใต้ เนื่องจากมีความแตกต่างกันอยู่หลายด้าน
เวียดนามเหนือจะเติบโตได้เร็วกว่าเพราะได้รับอิทธิพลความเจริญจากจีน (ปักกิ่ง) และไทย ส่วนเวียดนามใต้จะเติบโตช้าเพราะเป็นเมืองอุตสาหกรรมคนเวียดนามเชื่อว่าสินค้าของไทยดีที่สุด พฤติกรรมของคนมีรายได้จะเลือกใช้สินค้าจากไทย ส่วนคนมีรายได้น้อยจะเลือกของจีนเพราะราคาถูกการทำธุรกิจในเวียดนาม ควรหาพันธมิตรที่มีศักยภาพเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้ธุรกิจ การตลาดที่ได้ผลดีในเวียดนามคือการโฆษณาแบบปากต่อปาก และการทำการตลาดในอนาคตไม่ควรทำอย่างเดียว ควรมีหลากหลายและทำเป็นแพคเกจ

งานพัฒนาและสนับสนุน SMEs ให้มีศักยภาพด้านการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ กรมฯ มีนโยบายสนันสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่มีความพร้อมทั้งด้านองค์กรธุรกิจเอง และกรมฯยังสนันสนุนด้านการร่วมทุน หรือลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในอาเซียนเพื่อลดต้นทุนการผลิต โลจิสติกส์ และกระจายตลาดสินค้าและบริการไทยซึ่งมีภาพลักษณ์ที่ดีไปสู่ตลาดโลก อันเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศโดยรวม